03/09/2024
เข้าท่า เข้าท่า ประเด็นเรื่อง #เสื้อวง
มีมุมมองจาก Guru สายดนตรีที่ญี่ปุ่นด้วย
https://web.facebook.com/photo?fbid=1077091783979157&set=a.811136580574680
SOCIETY: การสวม 'เสื้อวง' โดยไม่เคยฟังเพลง
เป็นสิ่งผิดหรือไม่?
แล้วผู้สันทัดกรณีชาวญี่ปุ่น คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 วัยรุ่นสมัยนั้นมักจะแสดงความนิยมชมชอบวงร็อกที่ตนรักด้วยการซื้อ 'เสื้อวง' มาใส่ เสื้อเหล่านี้ก็มีตั้งแต่เสื้อลายปกอัลบั้มของวง เสื้อแสดงตารางทัวร์ของวงไปจนถึงเสื้อลายอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เสื้อทุกแบบจะมีร่วมกันก็คือโลโก้ของวงดนตรี
กระแสความนิยมเหล่านี้เริ่มลดลงในทศวรรษ 2000 และตั้งแต่ยุคนี้เป็นต้นมาคนที่นิยมใส่เสื้อวงก็ดูจะมีแต่คนที่นิยมดนตรีสายเฮฟวีเมทัลเป็นหลักเท่านั้นเป็นสิบปี จนกระทั่งปลายทศวรรษ 2010 กระแสนิยมเสื้อวงก็กลับมาใหม่จนถึงปัจจุบัน ร้านเสื้อวงมือสองเกิดขึ้นมากมาย หรือกระทั่งแบรนด์เสื้อผ้าดังๆ ก็ยังไปดีลกับวงดนตรีเพื่อนำโลโก้วงมาทำเสื้อมากมาย จนเรียกได้ว่าทุกวันนี้แม้แต่ในไทย การจะไปหาเสื้อวงของวงดนตรีร็อกดังๆ อย่าง Metallica, Nirvana, AC/DC, Iron Maidan, Rolling Stones ฯลฯ ตามร้านเสื้อผ้า ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นเลย ซึ่งเราไม่สามารถพูดแบบเดียวกันนี้ได้แน่ๆ ในยุคสัก 20 ปีก่อน
ทำให้เสื้อวงกลายมาเป็นสินค้าแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ใน Gen Z โดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็คือ เหล่าลูกค้าเสื้อวงรุ่นใหม่เหล่านี้ จำนวนมากก็ไม่เคยฟังเพลงของวงดนตรีเหล่านี้ และเอาเข้าจริงก็มีรายงานด้วยซ้ำว่าบางคนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวหนังสือบนเสื้อคือโลโก้ของวงดนตรี เพราะสำหรับพวกเขาเสื้อเหล่านี้มันก็เป็นแค่เสื้อ 'แฟชั่น'
และแน่นอนว่าแฟนเพลงรุ่นเก่าจำนวนมากก็ไม่ปลื้มเท่าไหร่ พวกเขารู้สึกถูกฉกฉวยทางวัฒนธรรม เพราะย้อนไป 20-30 ปีก่อน หรือกระทั่งช่วง Gen Y ยังวัยรุ่น การใส่เสื้อวงเป็นพฤติกรรมที่แทบจะจำกัดอยู่ในกลุ่ม 'ชายแท้' ที่นิยมฟังเพลงร็อก โดยเฉพาะร็อกสายหนักๆ เท่านั้น และยุคนั้นโยทั่วไปก็จะไม่มีใครซื้อเสื้อวงสุ่มๆ ที่ตัวเองไม่รู้จักและไม่เคยฟังมาใส่ เพราะคนในยุคนั้นการใส่เสื้อวงคือการประกาศให้โลกรู้ว่าตนชื่นชอบเพลงของวงนี้ และถ้าเดินไปในที่สาธารณะแล้วเจอคนใส่เสื้อวงเดียวกัน การชูนิ้วโป้งให้กันหรือกระทั่งยิ้มให้กันก็เป็นเรื่องปกติ
สถานการณ์ปัจจุบันรวมๆ มันกลับตาลปัตร และสิ่งที่น่ารู้ก็คือ แล้วผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่นๆ เขาคิดอย่างไรกับปรากฏการณ์นี้ โดยหนังสือพิมพ์ The Mainichi ได้ไปสัมภาษณ์ทั้งร้านขายเสื้อมือสองและนักวิจารณ์เพลง ในดินแดนที่ผู้คนยังนิยมดนตรีร็อกแบบญี่ปุ่น
ผู้จัดการร้าน Furugiya Jam Harajuku ซึ่งเป็นร้านเสื้อวงมือสองในย่านฮาราจูกุให้สัมภาษณ์ว่า ร้านของเขามีเสื้อวงขายกว่า 10,000 ตัว ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นจนถึงอายุ 20 ต้นๆ ซึ่งยังไม่เกิดด้วยซ้ำตอนที่เสื้อส่วนใหญ่ถูกผลิตออกมา เพราะเสื้อวงส่วนใหญ่ที่คนฮิตใส่กันจะมาในยุคทศวรรษ 1990 โดยวงที่เป็นที่นิยมสุดคือ Nirvana และ Metallica โดยเมื่อ The Mainichi ไปสัมภาษณ์ลูกค้าสาววัย 22 ปีคนหนึ่ง เธอก็ให้เหตุผลในการซื้อเสื้อวงยุคก่อนที่เธอเกิด ทำนองว่า ในยุคปัจจุบันมีกระแสแฟชั่นเสื้อวงทำให้แบรนด์ดังๆ ผลิตเสื้อวงรุ่นใหม่ๆ ออกมามากมาย ถ้าเธอไม่อยากใส่เสื้อวงที่มีลวดลายซ้ำกับคนอื่นแน่ๆ เธอก็ต้องไปหาตามร้านเสื้อมือสอง
สำหรับร้าน SyuNa Vintage Clothing ในย่านชิโมะคิตาซาวะ พนักงานก็รายงานว่าคนจะชอบและยอมจ่ายแพงๆ กับพวกเสื้อวงในยุคแรกๆ ของวงดังๆ ที่หายาก เช่นของ Nirvana เสื้อที่แพงสุดก็มาจากอัลบั้มแรกที่วงยังไม่ดัง ซึ่งทางร้านก็มีขาย ตัวละเกือบ 200,000 บาท ส่วนทางพนักงานร้าน SMOG ที่เป็นอีกร้านในย่านเดียวกันนี้ ก็บอกว่าปกติสมัยก่อนคนรุ่นใหม่ๆ ที่มาซื้อเสื้อวงเก่าๆ ก็ไม่ค่อยรู้จักวงดนตรี แต่ในยุคหลัง กระแสเริ่มเปลี่ยน คนรุ่นใหม่เองก็เริ่มมองว่าควรจะรู้จักวงดนตรีเจ้าของโลโก้บนเสื้อบ้าง และลูกค้ารุ่นหลังก็พูดกันมากขึ้นว่า บางทีเขาก็หาซื้อเสื้อมาใส่ก่อนแล้วค่อยไปไล่ฟังเพลง หรือบางคนก็บอกว่าเขาเริ่มศึกษาเพลงของวงก่อนมาซื้อเสื้อ เป็นต้น
แนวทางแบบนี้น่าจะทำให้ยูอิจิ มาสุดะ แฮปปี้ นักฟังเพลงรุ่นใหญ่วัย 60 กว่าคนนี้เคยเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารเฮฟวีเมทัลสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Burrn! มายาวนาน ก่อนที่ปัจจุบันจะเป็นบรรณาธิการบริหารให้นิตยสาร 'เพลงฝรั่ง' เก่าแก่อายุเกือบ 70 ปี ของญี่ปุ่นอย่าง ‘Music Life’
มาสุดะสารภาพว่า ในอดีตเขาไม่เคยแฮปปี้กับการที่คนเอาเสื้อวงมาใส่โดยไม่รู้เรื่องราวของวงเลย เพราะในช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น การใส่เสื้อวงคือการสื่อสารแบบหนึ่งที่ใช้แสดงความชื่นชอบในวงดนตรีนั้นๆ และมันก็เหมือนการเชิญชวนแฟนเพลงวงเดียวกันให้มามีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกัน และจริงๆ มันเป็นตัวเปิดบทสนทนาด้วย โดยมาสุดะเล่าว่าเขาเคยสัมภาษณ์จอน บอง โจวี (Jon Bon Jovi) นักร้องฮาร์ดร็อกชื่อดังจากยุคทศวรรษ 1980 เขาก็เลยต้องทำการบ้านก่อน เห็นจอนเคยใส่เสื้อยืด Aerosmith วงร็อกแอนด์โรลอเมริกันแห่งทศวรรษ 1970 เขาก็เลยเลือกใส่เสื้อ Aerosmith ไปสัมภาษณ์ และประโยคแรกที่จอนพูดกับเขาคือ “เสื้อคุณสวยนะ” และบทสนทนาในการสัมภาษณ์ก็เป็นไปอย่างลื่นไหล
มาสุดะบอกว่าจุดเปลี่ยนทางความคิดเรื่องการ 'ใส่เสื้อวงแบบไม่รู้เรื่อง' มาจากตอนที่เขาได้สัมภาษณ์วงแร็ปเมทัลยุคบุกเบิกอย่าง Rage Against The Machine ที่ขึ้นชื่อเรื่องเนื้อหาการเมืองและความจริงจังทางดนตรี โดยมาสุดะได้สัมภาษณ์มือกีตาร์และหัวหน้าวงอย่างทอม โมเรลโล แบบตรงๆ เลยว่า “คุณคิดอย่างไรกับคนที่ซื้อเสื้อวงของคุณโดยไม่เคยฟังเพลงของคุณ?”
โมเรลโลตอบดีมากว่า เขาไม่ได้มีปัญหาเลย เพราะวงนั้นได้ใส่ 'สาร' ที่วงต้องการจะสื่อลงในเสื้ออยู่แล้ว และหากมีคนใส่เสื้อวงไปเดินในที่สาธารณะ คนอื่นๆ ที่เห็นลายบนเสื้อก็อาจได้รับสารที่วงต้องการจะสื่อนั้นไปด้วยก็ได้ แล้วทำไมวงจะไม่ดีใจถ้ามันเป็นแบบนี้? หรือพูดง่ายๆ ว่าคนใส่เสื้อวงนั้นไม่ว่าจะฟังเพลงของวงหรือไม่ ในทางหนึ่งก็กำลังโปรโมตวงให้ฟรี และช่วยวงส่งสารออกไปเพิ่มอยู่ดี แบบนี้แล้ววงจะไปมีปัญหาทำไมกัน?
มาสุดะค่อนข้างมองโลกในแง่ดีว่า ถ้าคนใส่เสื้อวงกันเยอะๆ แม้ว่าจะใส่แบบไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่สุดท้ายมันก็จะต้องมีคนตามขุดและไปฟังเพลงของวงกันจริงๆ มากขึ้นๆ และสำหรับคนฟังเพลงไม่น้อย มันไม่ได้จบแค่วงดนตรีเหล่านั้น แต่มันเป็นจุดเริ่มที่จะทำให้พวกเขาตามไปค้นหาและฟังเพลงวงที่ไม่ดังแต่เพลงดี ไปจนถึงเพลงที่ฟังยากๆ ซึ่งยุคนี้ที่มี YouTube และสารพัดบริการสตรีมมิง การฟังเพลงหายากแบบนี้มันแค่ปลายนิ้ว ได้ไม่ยากแบบสมัยก่อน และสุดท้ายถ้ามันเพิ่มความเป็นไปได้ให้มีคนฟังเพลงร็อกมากขึ้น ก็ได้ประโยชน์กันทั้งระบบนิเวศ
จะบอกว่าทั้งหมดอาจเป็นการมองโลกในแง่ดีก็ได้ แต่อีกด้าน หากมองในบริบทปัจจุบันที่เพลงฮิปฮอปกำลังครองโลก และคนฟังเพลงร็อกน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งวงร็อก นักวิจารณ์เพลงร็อก และแฟนเพลงร็อกก็น่าจะมีทางเลือกไม่มากเท่าไรในการเพิ่มประชากรทางดนตรีของตน และการกีดกันการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมดนตรีไม่ว่าจะในทางใด ก็น่าจะเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองให้ลึกขึ้นเสียมากกว่า