15/01/2023
ในวันนึง.. เมื่อคนที่เรารักจากไกล #อัสดง
PSYCHOLOGY: ทำไมมนุษย์ถึงอยากถูกจดจำ แม้ว่าจะตายไปแล้ว
ในทุกวัฒนธรรม มนุษย์ต่างมีรูปแบบการระลึกถึงคนที่จากไปในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งรูปแบบเหล่านั้นก็มักจะเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ บ้างก็เป็นการระลึกเพื่อให้คนในครอบครัวได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง บ้างก็เป็นการระลึกถึงเพื่อให้คนที่อยู่ได้เข้าใจถึงวัฏจักรของชีวิต
หากไม่นับวัฒนธรรมในแถบบ้านเรา หนึ่งในภาพจำที่เราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันที่สุดก็คงเป็น ‘วันแห่งความตาย’ หรือ ‘Día de Muertos’ เทศกาลการเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณจากเม็กซิโก เมื่อความตายไม่จำเป็นต้องโศกเศร้าเสมอไป แต่มันสามารถถูกระลึกถึงด้วยความอบอุ่นใจและบรรยากาศเฉลิมฉลอง
ซึ่งมันไม่แปลกอะไรที่เราจะคิดถึงคนที่จากไป แต่คำถามถัดมาคือ ทำไมคนที่จากไปถึงอยากให้คนที่ยังอยู่จดจำ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าคนที่จากไปแล้ว ไม่ได้รู้สึก ไม่ได้สัมผัส ไม่ต้องสัมผัสความยินดียินร้ายใดๆ ไม่ต้องมานั่งคิดว่าใครจะจดจำเราอย่างไรก็ได้
โดยวันนี้เราขอยกแง่มุมในเชิงจิตวิทยามาบอกเล่าเหตุผลและที่มาของความรู้สึกนี้กัน โดยมีบทความวิทยาศาสตร์ที่ถูกตีพิมพ์ไว้ในวารสารอย่าง New Ideas in Psychology และเหล่านักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายไว้ใน 5 เหตุผลหลัก
1. เราต้องการความรัก: มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงความรู้สึกกับผู้คนที่อยู่แวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญกับพวกเราตั้งแต่วันที่เราเกิดมาจนถึงวันที่เราละทิ้งลมหายใจ หลายคนอาจจะใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อออกตามหาความรู้สึกรัก บางคนอาจจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเป็นที่รักอย่างไม่ลดละ มันจึงไม่แปลกอะไร ในขณะที่เราตระหนักถึงช่วงเวลาที่เราสิ้นลมหายใจ สัญชาตญาณก็ยังบอกเราว่า ‘เราควรถูกรัก’ อยู่ดี
2. เพื่อครอบครัวและลูกหลาน: ถึงแม้การถูกจดจำในวันที่เราจากไปแล้วจะไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับคนที่จากไปเลย (แน่ล่ะ!) แต่อย่าลืมว่าชื่อเสียง เรื่องราว และคุณค่าที่เราสร้างไว้ สิ่งเหล่านั้นมันมักจะถูกส่งต่อไปยังครอบครัวและลูกหลานเสมอ ทั้งในเชิงการทำงาน การหาคู่ครอง หรือการนับหน้าถือตาจากผู้คนในสังคม เพราะฉะนั้น เราอาจจะอยากถูกจดจำในแง่มุมดีๆ เพื่อที่ลูกหลานเราจะได้รับสิ่งดีๆ ที่เราสร้างไว้ให้พวกเขานั่นเอง
3. ลดความหวาดกลัว: เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การคิดถึงความตาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับใครหลายคน การหมุกมุ่นกับความตายในแง่ลบมากเกินไป อาจจะส่งผลถึงปัญหาในเชิงสุขภาพจิต เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงต้องหาความรู้สึกอะไรมาบรรเทาและเยียวยาหัวใจจากความหวาดกลัวตรงจุดนี้ และการถูกจดจำในแง่มุมดีๆ ก็ช่วยในเรื่องนี้ โดยนักจิตวิทยาจะเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Symbolic immortality’ การส่งต่อคุณค่าบางอย่างช่วยทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมาย และในวันที่เราจากไป เราก็ยังมีความหมายมากมายอยู่เช่นกัน
4. เพื่อบอกเล่าเรื่องราว: เป็นเรื่องปกติมากที่มนุษย์ทุกคนจะคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครหลักของเรื่องราว เป็นดั่งนักแสดงนำของภาพยนตร์ กว่าจะเป็นเราในปัจจุบัน กว่าจะเป็นเราในวันที่สิ้นลมหายใจ เราผ่านเรื่องราวมากมาย มีทั้งทุกข์ ทั้งสุข และบทเรียนที่อยากส่งต่อ ซึ่งทางจิตวิทยามองว่ามันเป็นเรื่องของ ‘Generativity’ ความรู้สึกเอื้ออาทรต่อคนอื่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือในวันที่เราจากไปเรายังใส่ใจความเป็นอยู่ของคนที่เหลืออยู่ และต้องการให้เรื่องราวของเราเป็นบทเรียนและมีประโยชน์ให้แก่คนอื่นๆ
5. จินตนาการภาพอนาคตได้ง่าย: ถ้าเราตายไปแล้ว คนที่เหลืออยู่จะเป็นอย่างไร เขาจะพูดถึงสิ่งไหน เขาจะจัดการ หรืออยู่กันอย่างไรได้บ้าง เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะนึกถึงเมื่อเราจากไป เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การส่งต่อเรื่องราวดีๆ เพราะมันจะพอช่วยให้เราเดาได้ว่า เขาจะพูดถึงเราในแง่ไหน เรามองภาพออกได้ว่าผู้คนระลึกถึงเราอย่างไร (แม้ว่าความจริงจะเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยก็ตาม)
สุดท้ายนี้ เรื่องของความตายเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิ์จะมีมุมมองในแง่มุมที่ต่างออกไป บางคนอาจมองว่ามันคือการก้าวสู่ความว่างเปล่าที่ไม่เหลืออะไร แต่บางคนอาจมองว่าการถูกพูดถึงในวันที่เราจากไปคือความงดงามในฐานะมนุษย์ แม้เราจะไม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกนั้นเลยก็ตาม มันอาจไม่มีอะไรถูกหรือผิด อะไรที่เลวร้าย หรือดีเลิศ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเรามองมันด้วยเลนส์แบบไหนเท่านั้นเอง
อ้างอิง: PsychologyToday. 5 Reasons Why People Wish to Be Remembered After Death. https://bit.ly/3VZsHgF